“ตีตราทางสังคม” ในไทย-เกาหลีใต้ ทำผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า-แพนิก” ไม่กล้าหาหมอ

“ตีตราทางสังคม” ในไทย-เกาหลีใต้ ทำผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า-แพนิก” ไม่กล้าหาหมอ

ผลวิจัยเผย สังคมเกาหลีใต้และไทย ยังคงมีการตีตราทางสังคม (Social Stigma) กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และแพนิก จนทำให้หลายคนขาดโอกาสในการรักษา

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ระบุว่า 256 ราย คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีอายุระหว่าง 10-20 ปี จาก ปัญหาสุขภาพจิตในเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 5,258 ราย มีประวัติการรักษาสุขภาพจิต จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั้งหมด 13,205 รายในปี 2564

จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายในกลุ่มอายุ 10-29 ปี เพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2562 โดยในปีที่แล้วยอดพุ่งสูงขึ้นเป็น 888 ราย ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำนวนคนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเภทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตัวเลขเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในหมู่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีในปี 2564

สังคม

แม้ว่าข้อมูลโรคแพนิกและภาวะซึมเศร้าจะปรากฏในพื้นที่สื่อ ทั้งในรูปแบบของซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่ข่าวของเหล่าคนดังในวงการ K-POP ที่เปิดเผยว่าตนเองเป็นโรคกลุ่มนี้ จะช่วยทำให้ชาวเกาหลีใต้ตระหนักถึงอันตรายและความสำคัญกับโรคเหล่านี้มากขึ้น แต่ การตีตราทางสังคม (Social Stigma) ยังคงมีอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายพลาดโอกาสในการเข้ารับการรักษา

ลี บยอง-ฮุน นักแสดงชายจากซีรีส์ชื่อดังอย่าง Mr. Sunshine และ Squid Game เพิ่งเปิดเผยว่า เขาเป็นโรคแพนิก จากการที่เขามีอาการตื่นตระหนกและหวาดกลัวระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังสหรัฐ และปัจจุบันยังคงรักษาอาการดังกล่าวอยู่

ขณะที่ คัง แดเนียล ศิลปิน K-POP ชื่อดัง หยุดรับงานทั้งหมดในช่วงที่เขาได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากโรคแพนิกและภาวะซึมเศร้า โดยเปิดเผยภายหลังว่า ในช่วงนั้น “เขาสูญเสียความตั้งใจที่จะมีชีวิตอยู่”

จำนวนของผู้ป่วยโรคแพนิกและมีภาวะซึมเศร้าในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของบริการประเมินและตรวจสอบประกันสุขภาพ พบว่า จำนวนผู้ที่รับการรักษาภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 35.1% จาก 691,164 คนในปี 2560 เป็น 933,481 คน ในปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนที่รับการรักษาจากโรคตื่นตระหนกสูงขึ้นจาก 653,694 คน เป็น 865,108 คน

อีกทั้งข้อมูลดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่าจำนวนคนอายุน้อยเกาหลีใต้ที่ป่วยในกลุ่มโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 90.2% ขณะที่กลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 127.1% ส่วนกลุ่มที่มีอายุ 30-39 ปี เพิ่มขึ้น 67.3%

นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่รับการรักษาโรคแพนิกในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 86.7% ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี และเพิ่มขึ้น 78.5% ในกลุ่มวัยรุ่น

ปัญหาหนึ่งที่มาพร้อมกับกลุ่มอาการทางจิตเภท คือ ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีอาการอื่นร่วมด้วย และจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความทรมานเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จอน ฮง-จุน อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยคอนกุก ในปี 2563 พบว่า ผู้เป็นโรคแพนิกมีแนวโน้มที่จะเป็น โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยที่พบทั้ง 2 โรคพร้อมกันจะมีความทุกข์ทรมานมากขึ้น

“ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วย PDA (โรคตื่นตระหนกกับร่วมกับโรคกลัวที่ชุมชน) มีอาการตื่นตระหนกที่รุนแรงกว่า มีอาการทางจิตเวชร่วมกันที่ลึกซึ้งกว่าและมีอาการของโรคที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยโรคตื่นตระหนกอย่างเดียว” จอนระบุ

นอกจากนี้ จอนยังระบุอีกว่า ผู้ป่วย PDA มีแนวโน้มที่เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อย หรือเสพติดยาเบ็นโซไดอาเซพีน และต้องใช้ยากลุ่ม Antipsychotic สำหรับการบำบัดโรคทางจิตเภทเป็นเวลานานยิ่งขึ้น